วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การแจ้งย้ายที่อยู่

 การแจ้งย้ายที่อยู่
                   เมื่อผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านย้ายออกจากบ้านที่ตนมีชื่ออยู่  ไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพหรือย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น  จะต้องแจ้งย้ายออกต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน  ๑๕  วัน  นับแต่วันที่ย้ายออกจากบ้านและเมื่อมีคนย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน  ผู้มีหน้าที่แจ้งก็จะต้องแจ้งย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน  ๑๕  วัน  นับวันที่ผู้นั้นเข้าอยู่ในบ้าน
                   นอกจากนี้  เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ย้ายเข้าอยู่ในบ้าน  ซึ่งอยู่ต่างท้องที่กับบ้านที่ผู้นั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน  ผู้ย้ายที่อยู่สามารถยื่นคำร้องขอแจ้งย้ายออกและย้ายเข้าในคราวเดียวกันได้ที่สำนักทะเบียน แห่งท้องที่ที่บ้านหลังที่ย้ายเข้าไปอาศัยอยู่นั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ โดยผู้ย้ายที่อยู่ไม่ต้องกลับไปแจ้งย้ายออก ณ  สำนักทะเบียนที่บ้านหลังเดิมตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ เรียกว่าการแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางการแจ้งย้ายที่อยู่นั้น  ผู้มีหน้าที่ย้ายที่อยู่จะมอบหมายเป็นหนังสือให้บุคคลอื่นเป็นผู้แจ้งแทนก็ได้

ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ 
                    การย้ายออกจากบ้าน  (เพื่อไปอยู่บ้านอื่นที่อยู่ต่างสำนักทะเบียน)
๑.      ผู้มีหน้าที่แจ้ง
-          เจ้าบ้านหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
๒.      ระยะเวลาการแจ้ง
-          ภายใน  ๑๕  วันนับแต่วันผู้อยู่ในบ้านย้ายออก
๓.      สำนักทะเบียนที่รับแจ้ง
-          สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ย้ายอยู่มีชื่อในทะเบียนบ้าน
๔.     หลักฐานประกอบการแจ้ง
-          บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (เจ้าบ้าน)
-          บัตรประจำตัวผู้ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมายให้แจ้งแทน)
-          บัตรประจำตัวของผู้ย้ายที่อยู่ (ถ้ามี)
-          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะแจ้งย้ายออก
๕.      นายทะเบียน
-          ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง
-          ลงรายการในใบแจ้งย้ายที่อยู่ (ท.ร.๖  สำหรับผู้ย้ายที่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ท.รง๑๔ หรือ ท.ร.๗ สำหรับผู้ย้ายที่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓
-          จำหน่ายรายการคนที่ย้ายออกในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านโดยประทับคำว่า”ย้าย” สีน้ำเงินไว้หน้ารายการบุคคลที่ย้ายออก
-          มอบใบแจ้งการย้ายที่อยู่ และหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
หมายเหตุ  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๗๙
การแจ้งย้ายเข้าในบ้าน
๑.      หน้าที่แจ้ง
-          เจ้าบ้านหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
๒.      ระยะเวลาการแจ้ง
-          ภายใน  ๑๕  วันนับแต่วันผู้อยู่ในบ้าน
๓.      สำนักทะเบียนที่รับแจ้ง
-          สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่บ้านหลังที่ย้ายเข้าตั้งอยู่
๔.     หลักฐานประกอบการแจ้ง
-          บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (เจ้าบ้านหลังที่ย้ายเข้า)
-          บัตรประจำตัวผู้ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมายให้แจ้งแทน)
-          บัตรประจำตัวของผู้ย้ายที่อยู่ (ถ้ามี)
-          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะแจ้งย้ายเข้า
-          ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ที่ได้มาจากการแจ้งย้ายออก ซึ่งเจ้าบ้านได้ลงชื่อให้ยินยอมย้ายเข้า
๕.      นายทะเบียน
-          ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง
-          รับแจ้งการย้ายเข้าในใบแจ้งการย้ายที่อยู่
-          เพิ่มชื่อบุคคลที่แจ้งย้ายเข้าในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
-          มอบหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
หมายเหตุ  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๘๙
                    การแจ้งย้ายออกและเข้าในเขตสำนักทะเบียนเดียวกัน
๑.      หน้าที่แจ้ง
-          เจ้าบ้านหรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
๒.      ระยะเวลาการแจ้ง
-          ภายใน  ๑๕  วันนับแต่วันผู้อยู่ในบ้าน
๓.      สำนักทะเบียนที่รับแจ้ง
-          สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ย้ายที่อยู่มีชื่อในทะเบียนบ้าน  และบ้านหลังที่จะย้ายเข้าตั้งอยู่ในเขตสำนักทะเบียนเดียวกัน
๔.     หลักฐานประกอบการแจ้ง
-           บัตรประจำตัวผู้แจ้งและเจ้าบ้านผู้ยินยอมย้ายเข้า
-          บัตรประจำตัวผู้ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมายให้แจ้งแทน)
-          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะแจ้งย้ายออก  และฉบับที่จำแจ้งย้ายเข้า
๕.      นายทะเบียน 
-          ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้งรวมทั้งการแสดงความยินยอมของ      เจ้าบ้านที่จะย้ายเข้า
-          ลงรายการในใบการแจ้งย้ายที่อยู่ (ท.ร.๖ สำหรับผู้ย้ายที่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๗ สำหรับผู้ย้ายที่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓) ทั้งการย้ายออกและย้ายเข้า
-          จำหน่ายรายการคนที่ย้ายที่อยู่ในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ย้ายออกโดยประทับคำว่า “ย้าย” สีน้ำเงินไว้หน้าบุคคลที่ย้ายออก
-          เพิ่มชื่อบุคคลที่แจ้งย้ายที่อยู่ในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ย้ายเข้า
-          มอบหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
หมายเหตุ  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๘๔
การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง
๑.      หน้าที่แจ้ง
-          ผู้ย้ายที่อยู่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ย้ายที่อยู่
๒.      ระยะเวลาการแจ้ง
-          ภายใน  ๑๕  วันนับแต่วันผู้อยู่ในบ้าน
๓.      สำนักทะเบียนที่รับแจ้ง
-          สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่บ้านหลังที่จะย้ายเข้าตั้งอยู่ในเขตพื้นที่(สำนักทะเบียนปลายทาง)
๔.     หลักฐานประกอบการแจ้ง
-          บัตรประจำตัวผู้ย้ายที่อยู่
-          บัตรประจำตัวผู้ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมายจากผู้มีหน้าที่แจ้ง (กรณีมอบหมายให้แจ้งแทน)
-          บัตรประจำตัวของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้า  พร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของเจ้าบ้านที่อนุญาตให้ย้ายเข้าอยู่ในบ้าน
-          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ย้ายเข้าไปอยู่ใหม่
๕.      นายทะเบียน
สำนักทะเบียนปลายทาง
-          ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง
-          ลงรายการในใบการแจ้งย้ายที่อยู่ (ท.ร.๖ สำหรับผู้ย้ายที่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๗ สำหรับผู้ย้ายที่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓) ทั้งการย้ายออกและย้ายเข้า
-          จำหน่ายรายการผู้ย้ายที่อยู่ออกจากทะเบียนบ้านของสำนักทะเบียนต้นทางในระบบคอมพิวเตอร์
-          เพิ่มชื่อผู้ย้ายที่อยู่ในทะเบียนบ้านของสำนักทะเบียนปลายทางและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ย้ายเข้า
-          แจ้งสำนักทะเบียนต้นทางด้วยระบบคอมพิวเตอร์
-          มอบหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
      สำนักทะเบียนต้นทาง
-          เมื่อได้รับทาบการจำหน่ายรายการของผู้ย้ายที่อยู่ทางระบบคอมพิวเตอร์แล้ว  ต้องแจ้งเจ้าบ้านให้นำสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านมาดำเนินการจำหน่ายรายการผู้ย้ายในสำเนาทะเบียนบ้านโดยนายทะเบียนต้องพิมพ์หนังสือแจ้งเจ้าบ้านที่เกี่ยวข้อง  และดำเนินการจัดส่งหนังสือดังกล่าวไปยังเจ้าบ้านโดยไม่ชักช้า  เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าบุคคลตามรายชื่อที่ระบุว่าเป็นผู้แจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางนั้นได้ย้ายที่อยู่จริงหรือไม่อย่างไร
-          เมื่อเจ้าบ้านนำสมุดทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านมาจำหน่ายรายการคนที่ย้ายออกนายทะเบียนต้องประทับคำว่า “ย้าย” สีน้ำเงินหน้ารายการบุคคลที่ย้าย
หมายเหตุ-  กรณีคนไม่มีสัญชาติไทยไม่อนุญาตให้ใช้วิธีการแจ้งย้ายปลายทาง  ยกเว้นคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ถาวร (มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว) และคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย
   -  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๙๐
                   การย้ายที่อยู่ของคนที่ไปต่างประเทศ
๑.       ผู้มีหน้าที่แจ้ง
-          เจ้าบ้านของบ้านที่คนไปอยู่ต่างประเทศหรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
๒.     ระยะเวลาการแจ้ง
-          ภายใน ๑๕  วัน  นับแต่วันที่ผู้อยู่ในบ้านย้ายออก
๓.       สำนักทะเบียนที่แจ้ง
-          สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่คนไปต่างประเทศมีชื่อในทะเบียนบ้าน
๔.     หลักฐานประกอบการแจ้ง
-          บัตรประจำตัวของผู้แจ้ง
-          บัตรประจำตัวของผู้ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมายให้แจ้งแทน)
-          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่คนไปต่างประเทศมีชื่ออยู่
-          หลักฐานการเดินทางไปต่างประเทศ (ถ้ามี)
๕.      นายทะเบียน
-          ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง
-          ลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร.๖) โดยให้หมายเหตุในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ในช่องย้ายไปที่ว่า “ไปต่างประเทศ”
-          จำหน่ายรายการคนที่ไปต่างประเทศในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านโดยประทับคำว่า “ย้าย” สีน้ำเงินไว้หน้ารายการบุคคลที่ไปต่างประเทศ
-          เพิ่มชื่อบุคคลที่ไปต่างประเทศในทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน และบันทึกในสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านตาม (๓) ว่า “ทะเบียนบ้านชั่วคราวลำดับที่”
-          สำนักทะเบียนเก็บใบแจ้งการย้ายที่อยู่ไว้เป็นหลักฐาน
-          มอบหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
          การย้ายที่อยู่เมื่อบุคคลดังกล่าวเดินทางกลับ
๑.       ผู้มีหน้าที่แจ้ง
-          บุคคลที่เดินทางกลับจากต่างประเทศซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
๒.     สำนักทะเบียนที่แจ้ง
-          สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่คนเดินทางกลับจากต่างประเทศมีชื่อในทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน
๓.      หลักฐานประกอบการแจ้ง
-          บัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทางของผู้ย้ายที่อยู่
-          บัตรประจำตัวของผู้ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมายจากผู้ย้ายที่อยู่ (กรณีมอบหมายให้แจ้งแทน)
-          หลักฐานการเดินทางกลับจากต่างประเทศของผู้ย้ายที่อยู่ (กรณีมอบหมายให้ผู้อื่นแจ้งแทน)
-          บัตรประจำตัวของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้า  พร้อมหลักฐานการแสดงความยินยอมของเจ้าบ้านที่อนุญาตให้ย้ายเข้าอยู่ในบ้าน
-          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่แจ้งย้ายเข้า
๔.      นายทะเบียน
-          ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้งและตรวจสอบรายการของผู้ย้ายในทะเบียนบ้านชั่วคราว  และใบแจ้งการย้ายที่อยู่ที่สำนักทะเบียนเก็บไว้
-          ขีดฆ่าคำว่า “ไปต่างประเทศ” และรับแจ้งการย้ายเข้าในแบแจ้งการย้ายที่อยู่
-          จำหน่ายรายการคนที่ย้ายออกจากทะเบียนบ้านชั่วคราวแล้วไปเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ผู้แจ้งประสงค์จะย้ายเข้า
-          มอบหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
หมายเหตุ  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๘๗
การแจ้งย้ายที่อยู่ของคนที่ออกไปจากบ้านเป็นเวลานานและไม่รู้ว่าอยู่ที่ใด
๑.      หน้าที่แจ้ง
-          เจ้าบ้านหรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
๒.      ระยะเวลาการแจ้ง
-          ภายใน  ๓๐  วันนับแต่วันที่ออกจากบ้านไปครบ ๑๘๐  วัน
๓.      สำนักทะเบียนที่รับแจ้ง
-          สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ออกไปจากบ้านมีชื่อในทะเบียนบ้าน
๔.     หลักฐานประกอบการแจ้ง
-          บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (เจ้าบ้าน)
-          บัตรประจำตัวผู้ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมายให้แจ้งแทน)
-          สำเนาทะเบียนบ้านที่คนออกไปจากบ้านมีชื่ออยู่
-          หลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับตัวบุคคลที่ออกไปจากบ้าน  เช่น  สำเนาบัตรประจำตัว เป็นต้น (ถ้ามี)
๕.      นายทะเบียน 
-          ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง
-          สอบสวนผู้แจ้งให้ได้ข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่แจ้งย้ายออกได้ออกจากบ้านไปเกินกว่า ๑๘๐ วัน และไม่ทราบว่าบุคคลนั้นไปอยู่ที่ใด
-          ลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่  และจำหน่ายรายการคนที่ย้ายออกในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน  โดยให้หมายเหตุว่า  “ย้ายเข้าทะเบียนบ้านกลางลำดับที่”
-          เพิ่มชื่อบุคคลดังกล่าวในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน
-          มอบหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
หมายเหตุ  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๘๑
การแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง
๑.       ผู้มีหน้าที่แจ้ง
-          ผู้ขอย้ายซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน
-          บิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครอง (กรณีผู้อยู่ในทะเบียนบ้านกลางเป็นผู้เยาว์)
-          ผู้ที่ได้รับมอบหมาย (กรณีผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางมีเหตุจำเป็นไม่สามารถแจ้งย้ายออกได้ได้ด้วยตนเอง  เนื่องจากเป็นคนพิการทางกายจนเดินไม่ได้  หรือเป็นผู้ป่วยทุพลภาพ หรือกรณีจำเป็นอื่น)
๒.     สำนักทะเบียนที่รับแจ้ง
-          สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ขอย้ายมีชื่อในทะเบียนบ้านกลาง
๓.     หลักฐานประกอบการแจ้ง
-          บัตรประจำตัวผู้แจ้งหรือ
-          บัตรประจำตัวผู้ขอย้ายซึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้านกลาง
-          หลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับตัวบุคคลผู้ขอย้าย (กรณีไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน)
-          บัตรประจำตัวผู้ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมาย (กรณีมอบหมายให้แจ้งแทน)
-          สำเนาทะเบียนบ้านที่คนออกไปจากบ้านมีชื่ออยู่
-          บัตรประจำตัวของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้า  พร้อมหลักฐานการแสดงความยินยอมของเจ้าบ้านที่อนุญาตให้ย้ายเข้าอยู่ในบ้าน
-          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะแจ้งย้ายเข้า

๔.      นายทะเบียน 
-          ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง
-          ตรวจสอบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้ขอแจ้งย้ายเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านกลาง
-          ลงรายการในใบแจ้งการบ้ายที่อยู่
-          จำหน่ายรายการผู้ขอย้ายในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน
-          เพิ่มชื่อผู้ขอย้ายเข้าในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ย้ายเข้า (กรณีบ้านย้ายเข้าอยู่ในสำนักทะเบียนเดียวกัน)
-          มอบใบแจ้งการย้ายที่อยู่ให้ผู้แจ้ง  (กรณีย้ายออกเพื่อไปเข้าบ้านที่อยู่เขตท้องที่สำนักทะเบียนอื่น)
-          มอบหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
หมายเหตุ  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๘๕
การแจ้งย้ายกลับที่เดิม (กรณีย้ายออกไปแล้วยังไม่ไดไปแจ้งย้ายเข้า และขอแจ้งย้ายเข้าบ้านหลังเดิม)
๑.        ผู้มีหน้าที่แจ้ง
-          เจ้าบ้านหรือผู้ได้รับมอบหมาย
๒.     สำนักทะเบียนที่รับแจ้ง
-          สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ใบแจ้งการย้ายออก
๓.     หลักฐานประกอบการแจ้ง
-          บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (เจ้าบ้านหลังเดิม)
-          บัตรประจำตัวของผู้ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมายให้แจ้งแทน)
-          บัตรประจำตัวของผู้ย้ายที่อยู่ (ถ้ามี)
-          สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ผู้ย้ายมีชื่อครั้งสุดท้ายก่อนย้ายออก
-          ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ที่ได้มาจากการย้ายออก
๔.     นายทะเบียน 
-          เรียกใบแจ้งการย้ายที่อยู่คืน  และตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง
-          แก้ไขรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ในช่อง “ไปอยู่ที่” โดยระบุคำว่า “กลับที่เดิม”
-          เพิ่มชื่อผู้ขอย้ายในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
-          มอบหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
หมายเหตุ  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๘๓


การแจ้งกรณีแจ้งย้ายออกแล้วแต่ใบแจ้งการย้ายที่อยู่สูญหายหรือชำรุดก่อนแจ้งย้ายเข้า
๑.       ผู้มีหน้าที่แจ้ง
-          บุคคลที่ลงชื่อผู้แจ้งย้ายออกในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ฉบับที่สูญหาย
๒.     สำนักทะเบียนที่รับแจ้ง
-          สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ออกใบแจ้งการย้ายที่อยู่ออก
๓.     หลักฐานประกอบการแจ้ง
-          บัตรประจำตัวผู้แจ้งหรือ
-          บัตรประจำตัวของผู้ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมาย (กรณีมอบหมายให้แจ้งแทน)
-          บัตรประจำตัวของผู้ย้ายที่อยู่คนอื่น ๆ ที่มีชื่อเป็นผู้ย้ายออกในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ฉบับที่สูญหายหรือชำรุด  กรณีผู้ย้ายออกมากกว่า ๑  รายการ (ถ้ามี)
๔.      นายทะเบียน
-           ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง  พร้อมทั้งตรวจสอบใบแจ้งการย้ายที่อยู่ตอนที่สำนักทะเบียนเก็บรักษาไว้และรายการในทะเบียนบ้านว่ายังไม่ได้แจ้งย้ายเข้าที่ใดจริงหรือไม่
-          กรณีสูญหายให้ผู้แจ้งแจ้งการสูญหายของใบแจ้งการย้ายที่อยู่ดังกล่าวต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามแบบ ท.ร. ๑๕ แต่ถ้าเป็นกรณีชำรุด  ให้เรียกใบแจ้งการย้ายที่อยู่คืนจากผู้แจ้ง
-          กรณีใบแจ้งย้ายที่อยู่ที่สูญหายไม่ได้ออกให้ผู้แจ้งด้วยระบบคอมพิวเตอร์นายทะเบียนจะต้องออกใบแทนใบแจ้งการย้ายที่อยู่โดยการลงรายการให้ถือปฎิบัติเช่นเดียวกับการออกใบแจ้งการย้ายที่อยู่ใหม่ เว้นแต่วันเดือนปีที่ย้ายออกตามความเป็นจริง (ตามรายการเดิม)  และให้หมายเหตุว่า “ใบแทนใบแจ้งการย้ายที่อยู่”  แต่ถ้าใบแจ้งการย้ายที่อยู่ที่สูญหายออกให้ผู้แจ้งด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้นายทะเบียนออกใบแทนใบแจ้งการย้ายที่อยู่โดยสำเนาจากใบแจ้งการย้ายที่อยู่ที่จัดเก็บด้วยระบบคอมพิวเตอร์  แล้วลงชื่อนายทะเบียนกำกับไว้
-          มอบใบแทนใบแจ้งการย้ายที่อยู่และหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
หมายเหตุ  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๙๑
การแจ้งย้ายบุคคลที่เข้ารับราชกรเป็นทหารกองประจำการ
เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ทหารกองประจำการมีชื่อใน
ทะเบียนบ้านได้รับแจ้งจากหน่วยทหารขอแจ้งย้ายที่อยู่ของบุคคลที่เข้ารับราชการทหารกองประจำการให้       นายทะเบียนแจ้งเจ้าบ้านมาดำเนินการแจ้งย้ายออก  โดยถือปฏิบัติเช่นเดียวกับการแจ้งย้ายออกตามปกติ
                   กรณีเจ้าบ้านไม่มาดำเนินการตามที่นายทะเบียนแจ้ง  ให้นายทะเบียนแจ้งหน่วยทหารเพื่อแจ้งทหารกองประจำการผู้นั้นดำเนินการย้ายที่อยู่ปลายทาง
หมายเหตุ  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๘๖
การดำเนินการแจ้งย้ายออกแล้ว  แต่ตายก่อนแจ้งย้ายเข้า
     กรณีมีการแจ้งย้ายที่อยู่ออกจากทะเบียนบ้านแล้ว  แต่ผู้ย้ายที่อยู่ถึงแก่ความตายก่อนที่จะนำหลักฐานไปแจ้งย้ายเข้า  ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นดำเนินการดังนี้
-          ระงับการแจ้งย้ายเข้า
-          สำนักทะเบียนแห่งท้องที่ที่ผู้ย้ายที่อยู่ถึงแก่ความตายรับแจ้งการตายและส่งมรณบัตรตอน ๒ ไปยังสำนักทะเบียนที่ออกใบแจ้งย้ายที่อยู่
-          สำนักทะเบียนที่ออกใบแจ้งการย้ายที่อยู่ให้หมายเหตุเพิ่มเติมในทะเบียนบ้านว่า “ถึงแก่ความตายก่อนแจ้งย้ายเข้าตามมรณบัตร”
-          กรณีผู้มีส่วนได้เสียนำมรณบัตรตอน ๑ มาแสดงเป็นหลักฐานก็ให้หมายเหตุเช่นเดียวกัน
กรณีตายก่อนแจ้งย้ายเข้าข้างต้น  หากมีชื่อผู้ย้ายที่อยู่คนอื่น ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ร่วมอยู่ด้วย ให้ดำเนินการดังนี้
-          ให้นำใบแจ้งย้ายที่อยู่ไปดำเนินการแจ้งย้ายผู้ที่ยังมีชีวิตเข้าในทะเบียนบ้านที่จะย้ายเข้าโดยถือปฏิบัติเช่นเดียวกับการแจ้งย้ายเข้าปกติ
-          สำหรับชื่อผู้ย้ายที่ถึงแก่ความตายไปแล้วให้ระงับการแจ้งย้ายเข้าโดยให้หมายเหตุในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ว่า “ บุคคลลำดับที่......ถึงแก่ความตายตามมรณบัตร”
-          แจ้งสำนักทะเบียนต้นทางให้หมายเหตุเพิ่มเติมในทะเบียนบ้านเฉพาะผู้ย้ายที่อยู่ถึงแก่ความตายว่า  “ถึงแก่ความตายก่อนแจ้งย้ายเข้าตามมรณบัตร”

หมายเหตุ  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑)  ข้อ ๘๘